โรคถุงน้ำในเต้านม สาเหตุ เกิดจากอะไร แตกต่างจากมะเร็งเต้านมอย่างไร

อ่าน 3,591

นอกจากถุงน้ำ หรือซีสต์ที่มดลูกแล้ว ยังมีอีกที่หนึ่งที่ผู้หญิงหลายคนเป็นกังวล นั่นคือ "ถุงน้ำในเต้านม" ที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนต้องเข้ารับการผ่าตัด สาเหตุ และอาการเบื้องต้นเป็นอย่างไร แตกต่างจากมะเร็งเต้านมอย่างไร มาหาคำตอบกัน

ถุงน้ำในเต้านม คืออะไร?

ถุงน้ำ เป็นก้อนซีสต์ชนิดหนึ่ง ที่สามารถพบได้ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยอาจไม่จัดเป็นโรคหรือเป็นความผิดปกติแต่อย่างใด กลุ่มของโรคถุงน้ำในเต้านมนี้ประกอบด้วยหลายภาวะ ซึ่งสามารถพบร่วมกันในเต้านมข้างเดียวกันได้ เช่น ถุงน้ำ (cyst) ท่อน้ำนมขยายหรือโป่งพอง (duct ectasia) พังผืด (adenosis, fibrosis) และท่อน้ำนมหนาตัว (ductal hyperplasia) ในที่นี้จะขอกล่าวถึงถุงน้ำในเต้านมเป็นหลัก เนื่องจากเป็นภาวะที่พบได้มากที่สุด

สาเหตุของถุงน้ำในเต้านม

ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของถุงน้ำที่เกิดขึ้นในร่างกาย รวมถึงการเกิดขึ้นของถุงน้ำในเต้านม แต่มีความเชื่อกันว่ามีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนในผู้หญิง เพราะจะพบว่ามีผู้หญิงที่มีอาการเจ็บเต้านมก่อนมีประจำเดือน พบก้อนในเต้านมจากการคลำ หรือผิวบริเวณเต้านมมีความขรุขระไม่เรียบเนียน

นอกจากนี้อาจพบการเกิดถุงน้ำที่ท่อน้ำนมส่วนปลายมีการพองออกร่วมกับมีการอุดตันทำให้เกิดการคั่งของของเหลวจนกลายเป็นถุงน้ำ หรืออาจพบร่วมกับการอุดตันของท่อน้ำนมส่วนอื่นด้วยทำให้เกิดท่อน้ำนมขยายหรือโป่งพองและอาจมีน้ำออกจากหัวนมได้

ถุงน้ำในเต้านม VS มะเร็งเต้านม

การตรวจเต้านม จะทำการตรวจด้วยแมมโมแกรม และอัลตร้าซาวนด์ เพื่อดูลักษณะ ขนาด อาการต่างๆ ว่าเป็นลักษณะกลมหรือรี ขนาดเท่าไร ผิวเรียบหรือขรุขระ ข้างในมีของเหลว หรือเป็นก้อนเนื้อ มีก้อนเดียว หรือมีหลายก้อน เป็นต้น

ส่วนใหญ่แล้ว อาการที่แตกต่างกันของ ถุงน้ำในเต้านม กับ มะเร็งเต้านม นอกจากจะพบว่าเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเต้านมทั้งสองข้างมีขนาดไม่เท่ากันอย่างชัดเขน โดบที่ไม่ทราบสาเหตุ คลำพบก้อนในเต้านม หรือมีอาการบีบแล้วเจ็บ คือ

ลักษณะของเต้านมเปลี่ยนแปลง เช่น หัวนมเปลี่ยนสี ผิวขรุขระไม่เรียบเนียน หัวนมเอียง

มีของเหลวออกมาจากหัวนม

ต่อมน้ำเหลืองโต

ผิวหนังรอบๆ เต้านมเปลี่ยนแปลง เช่น ผิวขรุขระเหมือนเปลือกส้ม รูขุมขนบุ๋มลงอย่างชัดเจน

การรักษาโรคถุงน้ำในเต้านม

แพทย์จะพิจารณาขนาด อาการ และการเปลี่ยนแปลงของถุงน้ำ ก่อนที่จะเลือกวิธีการรักษา โดยหากพบว่าถุงน้ำมีขนาดไม่ใหญ่มาก ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อาจไม่ต้องเข้ารับการรักษาใดๆ เพียงแค่เข้ามาให้แพทย์นัดตรวจอาการตามเวลาไปเรื่อยๆ แต่หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวด แพทย์อาจเจาะดูดน้ำออกจากถุงให้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ และหากพบว่าขนาดของถุงน้ำใหญ่ขึ้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดเอาถุงน้ำออก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โรคถุงน้ำในเต้านม เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ แม้ว่าจะทำการผ่าตัดถุงน้ำออกไปแล้วก็ตาม ผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วเข้ารับการตรวจร่างกายประจำปี เพื่อตรวจเต้านมเป็นประจำด้วย


วาไรตี้

เครื่องสำอาง แม่และเด็ก คลินิก สุขภาพ สกินแคร์ แต่งหน้า ทรงผม ทำเล็บ แฟชั่น ความรัก ดูดวง วาไรตี้ ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย คติสอนใจ ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่