โรคติดคาร์โบไฮเดรต หรือโรคติดแป้ง ที่ทำให้คุณน้ำหนักเพิ่มขึ้นจนอ้วน!

อ่าน 2,146

เคยหรือไม่ ที่กินข้าวอิ่มแล้วก็ยังรู้สึกอยากกินของหวานหรือขนมจุกจิกล้างปากซักหน่อย ซึ่งจริงๆ การกินของหวานล้างปากในปริมาณพอเหมาะตามหลักการกินแบบไทยโบราณถือว่าเป็นการสร้างสมดุลโภชนาการได้เป็นอย่างดี แต่กลับกันหลายคนเลือกจะสวาปามของหวานหลังมื้ออาหารอย่างหนักหน่วง ห่างไกลจากคำว่า "ล้างปาก" ไปไกลมาก อาการเหล่านี้ ถือเป็นสัญญาณขั้นต้นของโรคติดแป้ง หรือ โรคติดคาร์โบไฮเดรตที่ทำให้คุณน้ำหนักเพิ่มขึ้นจนอ้วน แถมยังตัวการสำคัญในการพังแผนควบคุมน้ำหนัก รวมทั้งยังเป็นสาเหตุให้ปริมาณอินซูลินในร่างกายสูงขึ้นจนทำให้ร่างกายแก่และโทรมเร็วอีกด้วย รู้อย่างนี้แล้ว โรคติดแป้งก็ถือเป็นอีกโรคที่อันตรายทีเดียว โดย 5 อันดับสัญญาณเตือนของโรคติดคาร์โบไฮเดรตจะมีอะไรบ้างนั้น ตามเราไปดูกันค่ะ

5. ขาดน้ำตาลไม่ได้

แม้ว่าของหวานจะเป็นของโปรดของหลายๆ คน แต่สำหรับผู้ที่มีอาการติดคาร์โบไฮเดรตนั้น ความต้องการน้ำตาลและขนมต่างๆ ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยช่วงแรกคุณอาจอยากกินแค่คุกกี้ชิ้นเล็กๆ สัก 2 ชิ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วอาจลงเอยด้วยการกินคุกกี้ไปครึ่งกล่องเพียงคนเดียว ซึ่งการกินเยอะขนาดนี้ไม่ใช่ว่าคุณไม่อิ่ม แต่ไม่สามารถหยุดความอยากของตัวเองได้ต่างหาก

4. อยากกินจุกจิกตลอดเวลา ทั้งที่ไม่หิว

สำหรับอาการอยากอาหารนั้น ลักษณะของผู้ที่ติดคาร์โบไฮเดรตจะแตกต่างจากความหิวทั่วไป เพราะผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการคล้ายน้ำลายไหล อยากกินนู่นกินนี่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอาหารหวานๆ อย่างพวกเบเกอรี่ หรือไอศกรีม ซึ่งน่าแปลกที่อาการเหล่านี้จะไม่ได้เกิดขึ้นเวลาที่หิว แต่กลับเกิดขึ้นอย่างรุนแรงเวลาที่คุณไม่ได้รู้สึกหิวแต่อย่างใด ซึ่งดูยังไงก็ไม่ปกติแน่นอน

3.ไม่ตบท้ายด้วยขนม เหมือนชีวิตขาดอะไรไป

ถือเป็นพฤติกรรมที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นทั่วไป สำหรับการอยากของหวานล้างปากหลังกินอาหารคาว แต่หากคุณปล่อยให้ตัวเองกินของหวานหลังทานข้าวทุกครั้ง ร่างกายจะมีการจดจำการทานอาหารลักษณะนี้จนถึงขั้นเสพติด ไม่สามารถขาดอาหารหวานหลังทานข้าวได้เลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่า คุณไม่ได้รู้สึกหิวแต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นจากการเสพติดน้ำตาลซึ่งถือเป็นคาร์โบไฮเดรตที่อันตรายต่อร่างกายอย่างมาก

2. ขาดสมาธิ ขี้หลงขี้ลืม

นอกจากพฤติกรรมการกินที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดแล้ว ร่างกายยังสามารถส่งสัญญาณการขาดคาร์โบไฮเดรตจากอาการอื่นๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อคุณพบว่าตัวเองมีประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างอาการคิดช้า ขาดสมาธิ และขี้หลงขี้ลืมอย่างไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งนี่ถือเป็นอาการอันดับ 2 ที่บ่งบอกว่าโรคคาร์โบไฮเดรตเริ่มส่งผลต่อร่างกายของคุณเข้าให้แล้ว โดยอีกหนึ่งอาการที่เห็นได้ชัดก็คือ แทนที่จะมีสมาธิกับเรื่องตรงหน้า คุณกลับไม่สามารถหยุดคิดเรื่องกินได้ แม้ท้องจะไม่มีความรู้สึกหิวเลยก็ตาม

1. อ่อนเพลียตลอดทั้งวัน

แม้ว่าอาการอ่อนเพลียจะถือเป็นอาการที่บ่งบอกได้ถึงหลายโรค แต่ก็ถือเป็นอาการอันดับหนึ่งที่บ่งชี้ได้ว่า โรคติดคาร์โบไฮเดรตเริ่มคุกคามร่างกายของคุณเข้าให้แล้ว และยิ่งหากคุณรู้ตัวว่าตัวเองบริโภคมากเกินไปจนรู้สึกแย่ อาการช่วงแรกๆ ของการอดน้ำตาลจะยิ่งทำให้คุณรู้สึกอ่อนเพลียมากยิ่งขึ้นไปอีก และถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้การควบคุมอาหารของเราล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่านั่นเอง

สำหรับวิธีการเยียวยาร่างกายจากอาการติดคาร์โบไฮเดรตนั้น เรียกได้ว่าต้องมีการรวมพลังใช้กันหลายวิธีทีเดียวค่ะ อาทิ การแบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็กๆ เพื่อลดการอยากอาหาร ปรับพฤติกรรมลดการบริโภคน้ำตาลให้น้อยลง รวมทั้งพยายามดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อลดความโหย แต่สำหรับใครที่ต้องการวิธีลัดนั้น ขอบอกเลยว่าไม่มีวิธีใดที่จะสามารถเยียวยาร่างกายให้สุขภาพดีได้หากคุณไม่ปรับพฤติกรรมของตัวเอง ด้วยการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ต้องลงมือด้วยตัวเองและต้องใช้พลังใจอย่างมากถึงจะกลายเป็นคนมีสุขภาพดีได้อย่างยั่งยืนค่ะ


วาไรตี้

เครื่องสำอาง แม่และเด็ก คลินิก สุขภาพ สกินแคร์ แต่งหน้า ทรงผม ทำเล็บ แฟชั่น ความรัก ดูดวง วาไรตี้ ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย คติสอนใจ ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่