มารู้จักกับโรค PBA อาการหัวเราะหรือร้องไห้อย่างไร้เหตุผล เกิดจากอะไร?

อ่าน 3,379

อาการหัวเราะทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้สึกขำ หรือร้องไห้ออกมาทั้งที่ก็ไม่ได้เศร้า แบบนี้เรียกภาวะ PBA ที่อาจไม่ใช่อาการทางจิต แต่อาจเกิดจากโรคทางกายที่ผู้ป่วยเป็น มาทำความรู้จักกันว่า PBA คืออะไร

ภาพจาก Warner Bros. Entertainment

สำหรับคนที่ได้ดู Joker มา และยังคงหลอนบวกกับสงสัยในพฤติกรรมหัวเราะแบบคุมไม่อยู่ หยุดไม่ได้ของโจ๊กเกอร์ วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักโรคที่โจ๊กเกอร์เป็นกันค่ะ โดยอาการหัวเราะไม่หยุดหรืออยู่ๆ ก็ร้องไห้ หยุดก็ไม่ได้ ทางแพทย์เรียกว่า PBA หรือชื่อเต็มๆ คือ Pseudobulbar affect ภาวะควบคุมการหัวเราะหรือร้องไห้ไม่ได้ ซึ่งจะว่าเป็นอาการทางจิตซะทีเดียวก็ไม่ใช่ แต่จะเกิดจากอะไรเรามาทำความเข้าใจกัน

PBA คืออะไร

โรค PBA หรือ Pseudobulbar affect คือ ภาวะการแสดงอารมณ์ที่ควบคุมไม่ได้ โดยผู้ป่วยโรคนี้จะแสดงอาการได้ 2 แบบ คือ แบบร้องไห้ (Pathological crying) และแบบหัวเราะ (Pathological laughing) ทั้งนี้การแสดงอารมณ์ไม่ว่าจะร้องไห้หรือหัวเราะจะเกิดขึ้นโดยฉับพลัน ไม่สามารถควบคุมได้ กล่าวคือผู้ป่วยจะห้ามไม่ให้ตัวเองหัวเราะหรือร้องไห้ไม่ได้ ทั้งที่ก็ไม่ได้รู้สึกเศร้าหรือรู้สึกขำอะไรเลยก็ตาม ภาวะนี้จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

ภาพจาก Warner Bros. Entertainment

PBA เกิดจากอะไร

สาเหตุของโรค PBA เชื่อกันว่าเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงของโรค ดังนี้

- การบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่ศีรษะ ซึ่งอาจกระทบกับการทำงานของสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex)

- โรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก หรืออุดตัน (Stroke)

- โรคความจำเสื่อมและโรคพาร์กินสัน

- เนื้องอกในสมองบางชนิด

- โรคปลอกประสาทเสื่อม (Multiple Sclerosis)

PBA อาการเป็นยังไง

* ร้องไห้หรือหัวเราะอย่างรุนแรง และควบคุมไม่ได้

* การร้องไห้หรือหัวเราะนั้นไม่เข้ากับสถานการณ์ และส่วนมากผู้ป่วยไม่ได้รู้สึกอย่างที่แสดงออกจริงๆ

* การแสดงสีหน้าไม่ตรงกับอารมณ์

* อาการเป็นอย่างยาวนานเกินกว่าที่คาดไว้

* มีอาการได้หลายครั้งต่อวัน

อย่างไรก็ตาม จากสถิติทางการแพทย์พบว่า ภาวะ PBA แบบร้องไห้พบได้บ่อยกว่าแบบหัวเราะ และในบางคนอาจเจอภาวะ PBA ทั้งแบบร้องไห้และหัวเราะเลยก็ได้ แต่เคสนี้ก็พบได้ไม่บ่อยนัก

PBA รักษาอย่างไร

การรักษาภาวะ PBA สามารถทำได้ ดังนี้

1. พบแพทย์และอธิบายอาการกับแพทย์อย่างละเอียด เพื่อที่แพทย์จะได้แยกโรคระหว่าง PBA กับโรคทางอารมณ์อื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า หรือไบโพลาร์ได้

2. ทำไดอารี่บันทึกช่วงเวลาที่มีอาการ

3. รักษาด้วยยา ที่อาจช่วยให้อาการ PBA บรรเทาลงได้ จนผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ป่วย PBA ดูแลตัวเองอย่างไรดี

ภาวะ PBA เป็นภาวะความผิดปกติที่สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตให้ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยหลายคนจึงมักจะเก็บตัวเงียบ เพราะไม่อยากไปร้องไห้ หรืออยู่ๆ ก็หัวเราะในที่สาธารณะ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกแปลกแยก ไม่อยากเข้าสังคม และอาจนำมาซึ่งปัญหาทางด้านอารมณ์ได้ ดังนั้นหากป่วย PBA ควรดูแลตัวเอง ดังนี้

1. พูดคุยกับคนในครอบครัวให้เข้าใจภาวะ PBA ที่เราเป็น

2. เมื่อมีอาการ สามารถใช้วิธีปรับเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อลดอาการได้ เช่น จากนั่งอยู่ก็ให้ลุกเดิน เดินอยู่ก็ให้นั่ง เป็นต้น

3. ฝึกหายใจเข้า-ออก อย่างช้าๆ

4. ฝึกการผ่อนคลายในทุกๆ วัน

5. พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และพยายามอย่าขาดยา

PBA ต่างจากไบโพลาร์ หรือโรคซึมเศร้า อย่างไร

แม้อาการ PBA จะเหมือนผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต แต่อย่างที่บอกว่า PBA ส่วนใหญ่จะเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมองส่วนหน้า ที่ทำให้ผู้ป่วยควบคุมการหัวเราะหรือร้องได้ไม่ได้ ซึ่งจะต่างจากโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ ที่เกิดจากสารเคมีในสมองเปลี่ยนไป และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์มักจะแสดงอารมณ์ได้ตรงกับที่รู้สึก คือ เศร้าก็ร้องไห้ สุขก็หัวเราะ และยังสามารถควบคุมการหัวเราะหรือร้องไห้ของตัวเองได้ ต่างจากผู้ป่วย PBA ที่ควบคุมอาการหัวเราะหรือร้องไห้ของตัวเองไม่ได้เลย

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ส่วนใหญ่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยังไปทำงานได้ ไปเรียนได้ ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้ ในขณะที่ผู้ป่วยโรค PBA อาจมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะผู้ป่วยจะร้องไห้โฮออกมาตอนไหนก็ไม่รู้ได้ หรือจะระเบิดเสียงหัวเราะจนทำให้คนรอบข้างแตกตื่นขึ้นมาเมื่อไรก็ไม่รู้ เป็นต้น

หากมีภาวะผิดปกติเกิดขึ้นกับเราหรือคนใกล้ตัว ทางออกที่ดีที่สุดคือเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและหาวิธีรักษาต่อไป เพื่อบรรเทาอาการหรือรักษาให้หาย เราจะได้ใช้ชีวิตได้ตามปกติ


วาไรตี้

เครื่องสำอาง แม่และเด็ก คลินิก สุขภาพ สกินแคร์ แต่งหน้า ทรงผม ทำเล็บ แฟชั่น ความรัก ดูดวง วาไรตี้ ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย คติสอนใจ ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่