หนุ่มสาวคนญี่ปุ่น มีความเห็นอย่างไรกับหน้าที่ในการใช้จ่ายเวลาออกเดท

อ่าน 16,133

หนุ่มสาวเวลาคบหาดูใจกัน "การออกเดท" ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นโอกาสทำให้คนสองคนได้รู้จักกันมากขึ้น ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข แต่หลายๆ คู่กลับเคยเจอปัญหาน่าปวดหัวว่า "ออกเดท ใครจ่ายตังค์?" จนบางคู่ถึงขั้นทำให้ความสัมพันธ์ต้องสั่นคลอน เรื่องแบบนี้ก็เป็นเรื่องที่พูดยากนะคะว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ควรเป็นหน้าที่ของใคร คราวนี้เราลองไปดูความเห็นของชาวญี่ปุ่นกันดีกว่า ว่าหนุ่มสาวคนญี่ปุ่นเขามีความเห็นอย่างไรบ้างเกี่ยวกับหน้าที่ในการใช้จ่ายในการออกเดท แล้วเขาจัดการกับปัญหานี้ยังไงกันนะ

เดททั่วไปผู้ชายจะออกเยอะกว่า

หากเป็นการออกเดททั่วๆ ไป ก็จะไม่เน้นว่าให้ฝ่ายชายเป็นคนออกทั้งหมด หรือหารกันครึ่งๆ แต่ฝ่ายชายก็จะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินมากกว่าที่ฝ่ายหญิงออก ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะหนุ่มญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเห็นว่า การจะให้หารกันครึ่งๆ ก็ดูน่าเกลียดไปหน่อย แต่ถ้าต้องออกเองทั้งหมดมันก็เป็นภาระที่หนักเกินไป หนุ่มๆ ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะออกเงินเป็นจำนวนที่มากกว่าฝ่ายหญิง ตามสัดส่วนเช่น 6:4 หรือ 7:3 เป็นต้น

วันสำคัญฝ่ายชายเลี้ยง เดททั่วไปช่วยกันหาร

ส่วนหลายๆ คู่ก็บอกว่า ถ้าออกเดททั่วไปตามปกติก็จะใช้วิธีหารค่าใช้จ่ายกันครึ่งครึ่ง แต่ถ้าเป็นวันพิเศษอย่างเช่น วันครบรอบต่างๆ ฝ่ายชายก็จะขอเปย์ให้เองทั้งหมด เป็นต้น โดยสาวๆ บางส่วนก็บอกว่า ถ้าให้ฝ่ายชายออกให้หมดตลอดมันก็ดูจะไม่ดี ดังนั้นปกติก็เลือกที่จะหารกัน แล้วพอวันพิเศษอย่างเช่น วันครบรอบ วันเกิด ฝ่ายชายจ่ายให้ทั้งหมดก็จะรู้สึกดี รู้สึกขอบคุณซาบซึ้งเป็นพิเศษไปอีก

ฝ่ายชายออกค่าอาหาร ฝ่ายหญิงออกค่าอื่นๆ

บอกคู่ก็เลือกแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน เช่น ฝ่ายชายจะเป็นคนออกค่าอาหาร แล้วฝ่ายหญิงออกค่าคาเฟ่ ค่าชา ค่ากาแฟ เป็นต้น หรือไม่ก็ฝ่ายชายออกค่าอาหารหรือค่าใช้จ่ายหลักๆ ในการเดท ส่วนฝ่ายหญิงก็จะช่วยออกค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ เช่น สมมติว่าไปเดทดูหนัง ฝ่ายชายก็จะออกค่าตั๋วหนัง ส่วนฝ่ายหญิงออกค่าน้ำ ค่าป๊อปคอร์น เป็นต้น

ตอบแทนคืนด้วยของขวัญ

บางส่วนก็ใช้วิธีแบบให้ฝ่ายชายออกค่าใช้จ่ายในการออกเดททั้งหมด ส่วนฝ่ายหญิงก็จะให้ของขวัญเป็นการตอบแทนในวันเกิดหรือวันคริสต์มาส โดยเลือกของขวัญราคาค่อนข้างสูงที่ฝ่ายชายอยากได้ ถือเป็นการตอบแทนที่คอยดูแล เอาใจใส่มาโดยตลอด เป็นต้น โดยฝ่ายชายไม่จำเป็นจะต้องซื้อของกลับคืนมาเป็นของขวัญราคาแพงก็ได้ แค่ให้ฝ่ายชายดูแลออกค่าใช้จ่ายเวลาเดทให้กันตามปกติก็เพียงพอ

แบ่งความถี่ในการออกค่าใช้จ่ายของแต่ละคน

แบ่งความถี่ในการออกค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจน เช่น ฝ่ายหญิงจะออกค่าใช้จ่าย 1 ครั้งจาก 3 ครั้งที่ไปเดท เพราะจะให้ฝ่ายชายออกทุกครั้งมันก็ดูจะไม่ดี ไม่อยากให้ฝ่ายชายรู้สึกว่าตัวเองต้องออกเงินคนเดียวตลอด และมีสาวๆ จำนวนไม่น้อยที่จะออกตังค์เองเวลาที่เลือกไปทานร้านที่ตัวเองอยากไป เป็นต้น

เวลาเดทที่บ้าน ฝ่ายหญิงจะซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารเอง

เวลาไปออกเดทด้วยกันข้างนอก ฝ่ายชายก็จะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ แต่เวลาเดทกันที่บ้านฝ่ายหญิงก็จะโชว์ฝีมือทำกับข้าวเอง พร้อมทั้งออกเงินค่าจ่ายกับข้าวเองด้วย ถ้าสมมติเดทกันที่บ้านบ่อยๆ ฝ่ายชายก็จะช่วยออกค่ากับข้าวบ้าง แต่ถ้านานๆ เดทกันที่บ้านสักที ฝ่ายหญิงก็จะเป็นคนออกเอง แล้วฝ่ายชายอาจจะช่วยออกค่าขนมอะไรแบบนี้

ให้ของตอบแทนอยู่ตลอด

สำหรับสาวๆ บางคนที่ฝ่ายชายออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ตลอด สาวๆ ก็จะให้ของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เป็นการตอบแทนเสมอๆ เช่น ขนมที่ฝ่ายชายชอบ เป็นต้น เพราะผู้ชายบางคนถึงเสนอว่าอยากจะขอช่วยหารค่าเดทก็จะปฏิเสธโดยเด็ดขาด ถ้าเจอผู้ชายแบบนั้นสาวๆ ก็จะเลือกให้ของเล็กๆ น้อยๆ ตอบแทน เพื่อให้ไม่รู้สึกว่าเอาเปรียบจนเกินไปนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าแต่ละคู่ต่างก็มีรูปแบบในการแบ่งภาระค่าใช้จ่ายในการออกเดทที่ไม่เหมือนกัน คงไม่มีตัวเลือกไหนถูกหรือผิดหรอกนะคะ ของแบบนี้ควรเป็นเรื่องของการตกลงกันของคนสองคน สำหรับคู่รักคู่ไหนที่เพิ่งคบหาดูใจกัน แล้วยังไม่รู้จะตกลงกันเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดทยังไง ลองเอาไอเดียของคู่รักญี่ปุ่นไปประยุกต์ใช้กันดูนะคะ


ความรัก

เครื่องสำอาง แม่และเด็ก คลินิก สุขภาพ สกินแคร์ แต่งหน้า ทรงผม ทำเล็บ แฟชั่น ความรัก ดูดวง วาไรตี้ ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย คติสอนใจ ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่