วิธีป้องกันเด็กหาย เมื่อต้องพาลูกน้อยไปท่องเที่ยวในที่ที่มีคนพลุกพล่าน

อ่าน 11,165

วิธีป้องกันเด็กหาย เมื่อต้องพาลูกน้อยไปท่องเที่ยวในที่ที่มีคนพลุกพล่าน พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนก็อดกังวลไม่ได้ว่าถ้าลูกหลานเราเกิดพลัดหลงขึ้นมาจะต้องทำอย่างไร แล้วมีวิธีป้องกันก่อนจะสายเกินไปหรือไม่

เวลาที่เราไปเที่ยวตามห้างหรือสถานที่สำคัญต่างๆ หลายคนคงเคยได้ยินประกาศเสียงตามสายอยู่บ่อยครั้งเรื่องการตามหาเด็กพลัดหลง ซึ่งผู้ปกครองแต่ละคนมีรายละเอียดเรื่องเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าของเด็กอย่างครบถ้วน บางครั้งก็เป็นตัวเด็กเองที่ต้องออกประกาศตามหาผู้ปกครองผ่านทางประชาสัมพันธ์ของที่นั้นๆ จนอดสงสัยไม่ได้ว่าผู้ปกครองเเต่ละคนจำเครื่องแต่งกายทั้งหมดของเด็กได้อย่างไร หรือเขาเตรียมการมาอย่างดีแล้ว ส่วนเด็กๆ ไร้เดียงสาเหล่านั้นทำไมถึงรู้ว่าต้องไปตามหาผู้ปกครองได้จากที่ไหน

นั่นคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่พ่อแม่จำรายละเอียดของลูกได้อย่างครบถ้วน และไม่ใช่เพราะตัวเด็กที่เก่งจนสามารถเดินไปหาประชาสัมพันธ์หรือเจ้าหน้าที่ได้เอง แต่ทุกอย่างล้วนเกิดจากการเตรียมการมาอย่างดีแล้วต่างหาก เพราะโอกาสที่เด็กจะพลัดหลงสูญหายมีได้ทุกวัน ยิ่งช่วงเทศกาลหรือที่ที่คนพลุกพล่านด้วยแล้วยิ่งเกิดได้ง่ายขึ้น

วันนี้เราจึงขอนำเอา 9  วิธีป้องกันเด็กหายที่ผู้ปกครองควรรู้และต้องสอนเด็กให้ทำมาฝากกัน ต่อไปนี้จะได้เที่ยวอย่างสบายใจไม่ต้องมัวพะวงว่าจะหลงจากกันอีก

1. เขียนชื่อเด็ก - ชื่อผู้ปกครอง และเบอร์โทรศัพท์ไว้ในเสื้อของเด็ก

ทุกครั้งที่ต้องออกไปเที่ยวควรมีกระดาษที่เขียนหรือเอาเป็นแบบพิมพ์อย่างดีก็ได้ บนกระดาษนั้นควรมีทั้งชื่อของเด็ก ชื่อผู้ปกครอง ที่อยู่และเบอร์โทร. ที่สามารถติดต่อได้ในตอนนั้น แต่ถ้าเด็กโตพอสมควรที่จะท่องจำเบอร์โทร. ได้แล้วก็ควรให้ท่องจำเอาไว้ด้วย อย่างไรก็ตามการจดบันทึกลงบนกระดาษใส่ไว้ในกระเป๋านั้นดูจะเป็นสิ่งที่รัดกุมมากกว่าอยู่ดี เพราะถึงสถานการณ์ที่มีการพลัดหลงขึ้นมาจริงๆ เด็กอาจจะตื่นตระหนกจนลืมเบอร์โทรศัพท์ไปหมดเลยก็ได้

2. ให้เด็กแต่งตัวสีสันสดใสใครเห็นก็จำได้

เนื่องจากเด็กเล็กหลายคนมีหน้าตา ทรงผม บุคลิกที่คล้ายกัน การหาเสื้อผ้าสีสันสดใส ลายการ์ตูนที่จดจำได้ง่าย หรือเครื่องแต่งกายอย่างอื่น เช่น หมวกรูปร่างแปลกตา กระเป๋าใบสวยเด่นให้เด็กสวมใส่ มีโอกาสทำให้คนจดจำได้ง่าย เวลาต้องเดินในที่ที่คนพลุกพล่านเราก็ยังมองเห็นเด็กได้จากสีนั้นด้วย หากเกิดกรณีที่เด็กสูญหายขึ้นมาจริงๆ การออกตามหาและถามผู้คนพร้อมทั้งอธิบายลักษณะเครื่องแต่งกายของเด็กก็จะง่ายขึ้น คนฟังก็พลอยนึกภาพออกตามไปด้วยนั่นเอง

3. ถ่ายรูปเด็กเอาไว้ก่อนออกไปเที่ยว

การถ่ายรูปเด็กในทุกครั้งก่อนออกไปเที่ยวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ผู้ปกครองบางคนอาจคิดว่าก็มีรูปตามโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว ไม่เห็นจะต้องถ่ายรูปเพิ่มเติมให้วุ่นวาย อย่าลืมว่าเด็กมีพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก รูปที่ถ่ายไว้สัปดาห์ก่อนอาจต่างไปจากสัปดาห์นี้เลยก็ได้ วันจันทร์ที่แล้วอาจฟันหลอ มาวันจันทร์นี้ฟันอาจขึ้นมาครึ่งซี่แล้ว ดังนั้นการถ่ายรูปของเด็ก ณ เวลาปัจจุบันจะช่วยให้การตามหาเด็กเป็นไปได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถบอกถึงเครื่องแต่งกายในวันนั้นๆ ของเด็กได้อย่างครบถ้วนด้วย

4. ลงทุนซื้อโทรศัพท์ที่ใช้โทร. เข้า-ออก ได้ ให้เด็กไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

ในยุคที่โทรศัพท์มือถือเอาแค่โทร. เข้า-ออกได้มีราคาไม่แพงนัก เพียงหลักร้อยหรือพันต้นๆ ก็หาซื้อมาใช้ได้แล้ว หากจะลงทุนซื้อมาให้เด็กสักเครื่องคงเป็นเรื่องดีไม่น้อย เพราะไม่เพียงแค่เอาไว้โทร. หากันยามพลัดหลง แต่เมื่อไหร่ที่เด็กเกิดเหตุฉุกเฉินก็สามารถโทร. หาผู้ปกครองเพื่อขอความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที บางครั้งเทคโนโลยีก็ไม่ใช่ของเลวร้ายหรือฟุ่มเฟือยเสมอไป แค่ต้องนำเอามาใช้ในทางที่เหมาะที่ควรก็พอ

5. ถ้าเที่ยวกันเป็นกลุ่มใหญ่ ต้องมอบหมายให้ผู้ปกครองดูแลเด็กเป็นคนๆ ไป

การออกเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนหรือครอบครัวคงหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปเที่ยวด้วยไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือควรมอบหมายให้ผู้ใหญ่มีหน้าที่ดูแลเด็กเป็นคนๆ ไป ไม่ควรให้ผู้ใหญ่แค่คนเดียวต้องดูแลเด็กทั้งกลุ่ม เพราะถ้าเป็นแบบนั้นอาจเกิดการพลัดหลงได้ง่ายมาก ยิ่งไปเที่ยวกันเป็นคณะใหญ่ๆ ยิ่งต้องแบ่งกันให้ดูแลเด็กอย่างดี ที่สำคัญห้ามเปลี่ยนตัวผู้ปกครองที่ดูแลเด็กระหว่างวันเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นอาจเกิดความสับสนได้ว่าสรุปตอนนี้ใครเป็นคนดูแลกันแน่ สุดท้ายก็ไม่มีใครดูแลเด็กคนนั้นและอาจทำให้เกิดเหตุไม่คาดฝันได้

6. ก่อนจะเดินเที่ยวต้องพาเด็กไปรู้จักจุดประชาสัมพันธ์ก่อน

การพาเด็กไปรู้จักจุดประชาสัมพันธ์ก่อนออกเที่ยวทุกครั้งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากเกิดเหตุพลัดหลงขึ้นมาจะได้รู้ว่าต้องไปขอความช่วยเหลือได้จากที่ไหน แต่หากบริเวณนั้นไม่มีจุดประชาสัมพันธ์อยู่เลย ก็เลือกเป็นจุดที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนอยู่หรือเป็นจุดสำคัญๆ ที่เดินหากันได้ง่ายไว้เป็นจุดนัดพบก็ได้ เมื่อต้องออกตามหาขึ้นมาจริงๆ จะได้เริ่มจากจุดนี้เป็นจุดแรกนั่นเอง

7. สายจูงกันหาย ควรเอามาใช้ไม่ต้องสนใจคนมอง

เด็กวัยกำลังหัดเดินจนถึงเด็กวัย 3 ขวบ คือช่วงที่มีความซุกซนอย่างมาก ชอบวิ่งไปตรงนั้นที ตรงนี้ที หากวิ่งตามทุกฝีก้าวก็คงจะไม่ไหว อีกทั้งเขาก็มีน้ำหนักตัวที่มากเกินจะอุ้มอยู่ ดังนั้นแล้วการใช้สายจูงกันหลง หรือเป้จูงกันหลง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งและควรเป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ต้องอายสายตาของใครที่มองมาเลย ถึงคนรอบข้างอาจมองด้วยสายตาแปลกๆ ไปบ้างก็ตาม ต่อไปนี้เด็กจะวิ่งซนไปทางไหนก็ไม่ห่างจากตัวเราแล้ว

8. ห้ามละสายตาไปจากตัวเด็กเด็ดขาด

หลายครั้งที่เด็กสูญหายมักเกิดเหตุตอนที่เราไม่คาดคิดเพียงเสี้ยววินาทีสั้นๆ เท่านั้น เช่น ช่วงที่่แวะดูของ ช่วงที่ต้องจ่ายเงินค่าสินค้า ช่วงแวะถ่ายรูป หรือแม้แต่ขณะที่เราหยุดทักทายผู้คน เวลาเหล่านั้นแม้อาจจะสั้นแต่ก็ทำให้เด็กวิ่งหายไปได้ง่ายมาก ผู้ปกครองควรยืนอยู่ข้างหลังเด็กตลอดเวลาเพื่อจะได้เฝ้ามองเขา หรือไม่ก็จูงมือเด็กไว้ตลอดได้ยิ่งดี

9. สอนให้เด็กรู้จักขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

จริงอยู่ที่เราต้องสอนไม่ให้เด็กเข้าไปพูดคุยกับคนแปลกหน้า หรือถ้ามีคนแปลกหน้ามาชวนไปไหนก็ห้ามไปพร้อมกันกับเขา แต่ในกรณีที่พลัดหลงขึ้นมา เด็กเหล่านั้นคงต้องพึ่งพาคนแปลกหน้าบ้างแล้ว ก่อนอื่นเลยต้องสอนให้เด็กรู้จักชุดเครื่องแบบของทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เมื่อไหร่ที่ต้องการความช่วยเหลือหรือถามทางไปยังจุดที่นัดแนะกับผู้ปกครองไว้ คนเหล่านี้คือคนที่พึ่งพาได้ หากว่าไม่เจอเจ้าหน้าที่จริงๆ ก็ให้ไปถามทางจากพ่อค้าแม่ค้าแถวนั้นดู รับรองว่าเขายินดีช่วยเหลือแน่นอน

อย่างไรก็ตาม บางวิธีที่ได้แนะนำไปนั้น หลายคนอาจคิดว่าทำเกินเหตุไปหรือไม่ เพราะปกติก็พาเด็กไปเที่ยวในที่ที่คนพลุกพล่าน หรือออกเที่ยวช่วงเทศกาลอยู่แล้วก็สามารถดูแลเด็กได้ ถ้าทำตามนั้นทั้งหมดดูจะเป็นกระต่ายตื่นตูมหรือเปล่า ต้องบอกตรงนี้ว่าการป้องกันไม่ให้เด็กหายหรือพลัดหลงไม่ใช่เรื่องที่มาก หรือยุ่งยากเกินไปสำหรับคนที่คุณรัก และอย่าลืมว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" คือข้อคิดเตือนใจที่ยังใช้ได้ดีเสมอมา


วาไรตี้

เครื่องสำอาง แม่และเด็ก คลินิก สุขภาพ สกินแคร์ แต่งหน้า ทรงผม ทำเล็บ แฟชั่น ความรัก ดูดวง วาไรตี้ ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย คติสอนใจ ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่