7 วิธีการคุมกำเนิด พร้อมข้อดี-ช้อเสีย ป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อม

อ่าน 2,679

การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ เวลาอารมณ์พาไปก็ยากจะหยุดใจไว้ให้อยู่ ในเมื่อห้ามกันไม่ได้แล้วเราก็ต้องป้องกันตัวเองเพราะการท้องทั้งที่ไม่พร้อมนั้นเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิดโดยเฉพาะภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็มีวิธีการคุมกำเนิดที่หลากหลาย ดังนั้นมาเลือกวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะกับเรากันเถอะค่ะ

วิธีที่ 1 ยาเม็ดคุมกำเนิด

ยาเม็ดคุมกำเนิดมักเป็นวิธีการคุมกำเนิดลำดับต้นๆ ของสาวๆ เพราะนอกจากจะใช้คุมกำเนิดแล้วยังช่วยลดสิวฮอร์โมนและความมันบนใบหน้าได้ด้วย ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดแบ่งเป็น  2 ประเภท คือ

1. ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม

ในยาประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ชนิดคือ เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ช่วยยับยั้งการตกไข่ ป้องกันการตั้งครรภ์ ในหนึ่งแผงจะมีตัวยา 28 หรือ 21 เม็ด รับประทานตามลำดับลูกศรจนหมดแผง มีวิธีทานต่างกันคือ

แบบ 28 เม็ด ประจำเดือนจะมาใน 7 เม็ดสุดท้ายของแผง เมื่อยาหมดแผงแล้วให้เริ่มแผงใหม่ในวันถัดไปทันที

แบบ 21 เม็ด เมื่อยาหมดแผงแล้ว ให้นับต่อไปอีก 7 วัน (ประจำเดือนจะมาในช่วง 7 วันนี้) และเริ่มรับประทานแผงใหม่ในวันที่ 8

2. ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยว

ในยาจะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) มีฤทธิ์สร้างมูกกั้นปากมดลูกช่วยทำให้อสุจิวิ่งผ่านปากมดลูกเข้าไปไม่ได้ ยาบางชนิดสามารถใช้ในการคุมกำเนิดสำหรับแม่หลังคลอดที่ให้นมบุตร ในหนึ่งแผงมี 28 เม็ด รับประทานยาตามลำดับลูกศรจนกว่าจะหมดและเริ่มแผงใหม่ได้ทันที

ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดทั้งสองแบบนี้ต้องรับประทานตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน เพราะอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการคุมกำเนิดได้ ควรเริ่มใช้ยาตั้งแต่มีประจำเดือนวันแรกหรือภายใน 5 วัน ของช่วงรอบเดือน แต่เมื่อหยุดยาแล้วสามารถมีลูกได้ทันที วิธีนี้เหมาะกับคนมีวินัยและไม่ชอบการคุมกำเนิดวิธีอื่น วิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงคือ เวียนหัว คลื่นไส้ อารมณ์แปรปรวน ประจำเดือนมากระปิดกระปอย

วิธีที่ 2 ยาคุมฉุกเฉิน

วิธีนี้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เช่น ไม่ได้ใส่ถุงยาง ถุงยางแตก ถูกข่มขืน หรือลืมรับประทานยาคุมกำเนิด ในหนึ่งแผงจะมีตัวยา 2 เม็ด ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดจะไม่ดีเท่าวิธีอื่นนัก โดยยาคุมฉุกเฉินมี 2 ชนิด คือ ลีโวนอร์เจสเตรล 1.5 มิลลิกรัม และอัลลิพลิสตัล อซิเตท 30 มิลิกรัม ช่วยป้องกันและชะลอการตกไข่ ไม่ให้อสุจิไปปฎิสนธิได้ ควรรับประทานเม็ดแรกทันทีภายใน 72 ชั่วโมง และเม็ดที่สองหลังจากนั้นอีก 12 ชั่วโมง

ยาคุมฉุกเฉินเหมาะแค่ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น และไม่ควรทานยาคุมฉุกเฉินมากกว่า 2 แผงในหนึ่งเดือน เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงกับระบบสืบพันธ์ได้ ถ้าอยากคุมกำเนิดจริงๆ คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นดีกว่า มีผลข้างเคียงคือ ประจำเดือนมาไม่ปกติ คลื่นไส้อาเจียน เจ็บเต้านม ปวดศีรษะ

วิธีที่ 3 ยาคุมกำเนิดแบบฉีด

วิธีนี้คุณหมอจะฉีดยาที่มีฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เข้ากล้ามเนื้อ 1 เข็ม มีฤทธิ์ในการคุมกำเนิด 3 เดือน หากต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ต้องมาให้คุณหมอฉีดยาทุกๆ 3 เดือน วิธีการฉีดเหมือนวิธีการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด คือเริ่มฉีดในวันแรกของการมีประจำเดือน หรือภายใน 5 วันแรกของรอบเดือนนั้น

ใครที่กลัวเข็ม กลัวเจ็บ อาจไม่ชอบวิธีคุมกำเนิดนี้นัก และมีผลข้างเคียง คือ ประจำเดือนมากระปริดกะปรอย ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน และหากต้องการมีลูกต้องหยุดยา 9-12 เดือน ถึงจะสามารถมีลูกได้

วิธีที่ 4 ยาคุมกำเนิดแบบฝัง

การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้กำลังเริ่มได้รับความนิยม ใครที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี สามารถฝังฟรีได้แต่ต้องไปเช็กโรงพยาบาลรัฐที่เข้าร่วมโครงการนี้นะ ตัวยามีลักษณะเป็นหลอดยาทรงกระบอกขนาดเล็ก มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน(Progesterone) เพียงอย่างเดียว โดยคุณหมอจะฝังหลอดยานี้เข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขนข้างที่ไม่ถนัด มีฤทธิ์คุมกำเนิดนาน 3-5 ปี เมื่อครบกำหนดต้องกลับมาใส่ยาหลอดใหม่

วิธีนี้คุมกำเนิดได้ดีและออกฤทธิ์นาน อาจมีผลข้างเคียงบ้าง เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เลือดออกกระปริดกระปรอย ช่วงแรกๆ แผลจะมีรอยช้ำบ้างแต่จะค่อยๆ หายไปเอง

วิธีที่ 5 แผ่นแปะคุมกำเนิด

แผ่นแปะนี้ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ช่วยป้องกันไม่ให้ไข่ตกจนเกิดการปฎิสนธิ ใน 1 ชุดมีแผ่นแปะคุมกำเนิด 3 แผ่น ใช้ได้นาน 1 เดือน โดยนำไปแปะตามส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น หลัง ต้นแขน หน้าท้อง สะโพก และต้องแปะต่อเนื่องติดกันทุกสัปดาห์ และเว้นสัปดาห์ที่ 4 ก่อนจะเริ่มสัปดาห์ที่ 1 ใหม่ ที่สำคัญห้ามเอาออกเด็ดขาด หากลืมแปะอาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้

วิธีคุมกำเนิดแบบนี้ค่อนข้างสะดวกเลย เหมาะกับคนที่ไม่ชอบทานยา กลัวเข็ม กลัวเจ็บ แค่แปะติดร่างกายง่ายๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะหลุดลอก เพราะตัวแผ่นแปะคุมกำเนิดเหนียวหนึบติดทนทานมาก จะอาบน้ำ ว่ายน้ำ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ก็ไม่หลุดง่ายๆ

วิธีที่ 6 ห่วงคุมกำเนิด

วิธีนี้คุณหมอจะนำแท่งพลาสติกขนาดเล็กรูปตัว T ตรงปลายผูกเป็นห่วงใส่เข้าไปทางปากมดลูก ตัวห่วงจะกางอยู่ในโพรงมดลูก และกระตุ้นการสร้างเมือกเพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิว่ายเข้าไปพร้อมยับยั้งการตกไข่ มีฤทธิ์นาน 3?5 ปี

อาจฟังดูน่ากลัวที่ต้องใส่สิ่งแปลกปลอมลงไปในมดลูกของเรา แต่วิธีนี้สามารถคุมกำเนิดได้ดีไม่แพ้วิธีอื่นเลย เหมาะกับคนชอบลืมกินยาคุม ไม่กลัวเจ็บ และคนอ้วนที่กลัวว่าฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดจะเพิ่มน้ำหนัก ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น อาจมีเลือดออก ประจำเดือนมามาก ปวดท้อง หรือตกขาวได้

วิธีที่ 7 ถุงยางอนามัย

ถึงคราวที่ฝ่ายชายต้องช่วยสาวๆ บ้าง แค่ใส่ถุงยางอนามัยก็ช่วยลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์แล้ว แถมถุงยางอนามัยยังเป็นวิธีคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียวที่ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ไม่ว่าจะโรคหนองใน โรคเอดส์ หรือซิฟิลิส ถุงยางอนามัยจะช่วยกั้นตัวอสุจิไม่ให้ผ่านเข้าไปในปากมดลูก เพื่อป้องกันการปฎิสนธิไข่ เพื่อความชัวร์อย่าลืมเช็กสภาพถุงยางอนามัย และนับวันตกไข่ของฝ่ายหญิงด้วย

วิธีคุมกำเนิด 7 วิธีนี้ สาวๆ ลองไปเลือกให้เหมาะสมกับตัวเองดูนะคะ เพศสัมพันธ์มีได้แต่ต้องป้องกัน ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาท้องไม่พร้อมได้


วาไรตี้

เครื่องสำอาง แม่และเด็ก คลินิก สุขภาพ สกินแคร์ แต่งหน้า ทรงผม ทำเล็บ แฟชั่น ความรัก ดูดวง วาไรตี้ ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย คติสอนใจ ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่